ระบบนิเวศป่าชายเลน

ระบบนิเวศป่าชายเลน


 ระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน มีหน้าที่เป็นปราการเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศบนบกและนิเวศทางทะเล โดยทำหน้าที่ช่วยเก็บกักตะกอนและกลั่นกรองความสกปรกที่มาจากกิจกรรมบนบก และยังมีหน้าที่ช่วยรักษามวลดินและหน้าดินไม่ให้ถูกพัดพาออกจากขอบฝั่งและริมตลิ่ง นอกจากนี้ ระบบนิเวศป่าชายเลนยังเป็นแหล่งผลิตออกซิเจน และเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตสูง เหมาะแก่การท่องเที่ยวและศึกษาวิจัย
            ระบบนิเวศป่าชายเลนป่าชายเลนในประเทศไทยมีสถานภาพแตกต่างกัน ทั้งในด้านพืชพรรณ ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ลักษณะทางสังคมเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง จึงเป็นสาเหตุให้ระบบนิเวศป่าชายเลนในแต่ละพื้นที่มีสภาพปัญหาแตกต่างกัน ทั้งนี้อาจสรุปปัญหาได้ 3ลักษณะ คือ
1.พื้นที่ป่าชายเลนที่คงสภาพเป็นป่าอยู่ แต่มีชุมชนเข้าไปอาศัยอยู่ และใช้ประโยชน์ต่าง ๆ พื้นที่บางส่วนถูกบุกรุก ได้แก่ ป่าชายเลนบริเวณฝั่งอันดามัน จังหวัดพังงา ระนอง กระบี่ ตรัง สตูล และภูเก็ต
2.พื้นที่ป่าชายเลนที่มีการบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ และเปลี่ยนแปลงเป็นนากุ้ง เช่น บริเวณอ่าวไทยภาคตะวันออกและภาคใต้ ของจังหวัดจันทบุรี สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
3.พื้นที่ป่าชายเลนที่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองและใช้ประโยชน์แต่ไม่คุ้มทุน เช่น การปลูกป่าชายเลนหรือการทำนากุ้ง จึงมีการขายให้กับนายทุน ตลอดจนการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม จนเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ได้แก่ พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และฉะเชิงเทรา
            พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แบ่งเป็น ชายฝั่งภาคตะวันออกตอนนอก (จังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง) ชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน (จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี) อ่าวไทยฝั่งตะวันตกตอนกลาง (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี) และอ่าวไทยตะวันตกตอนล่าง (จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และปัตตานี) บริเวณดังกล่าวมีพื้นที่ป่าชายเลนตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2547 

ประโยชน์และความสำคัญของป่าชายเลน
1.ด้านป่าไม้พันธุ์ไม้จากป่าชายเลนหลายชนิดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างบ้านเรือน ผลิตเครื่องมือการประมง เฟอร์นิเจอร์ และนำมาทำถ่านไม้ที่ให้ความร้อนสูง นอกจากนี้เปลือกของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลายชนิดยังมีสารแทนนิน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายชนิด เช่น ใช้ย้อมอวน และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ทำหมึก สี และกาวสำหรับติดไม้ เป็นต้น
2.ด้านการประมงป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะปู กุ้ง หอย ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ รวมทั้งสัตว์น้ำอื่นๆซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารโดยเฉพาะปลาหลายชนิดที่เรานิยมบริโภค เช่น ปลากะพง ปลาทะเลหลายชนิดที่วางไข่ในป่าชายเลน และอาศัยเจริญเติบโตในระยะแรก เมื่อเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้วจึงออกสู่ทะเล และหลายชนิดที่แม้จะวางไข่ในทะเลแต่ตัวอ่อนจะเคลื่อนย้ายสู่ป่าชายเลนเพื่ออาศัยหลบซ่อนศัตรู และหาอาหาร
3.ด้านการแพทย์พันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลายชนิดมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรใช้รักษาโรคต่างๆได้ ตัวอย่างคือ ต้นเหงือกปลาหมอ โพธิ์ทะเล สำมะงา โปรง ตะบูน แสมและ โกงกาง เป็นต้น
4.ด้านการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศป่าชายเลนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากคลื่นลมแรงและการกัดเซาะดินได้เป็นอย่างดี ชายฝั่งทะเลบริเวณที่มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์จะไม่ได้รับความเสียหายจากคลื่นลมแรงและพายุ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศใกล้เคียง คือ ระหว่างป่าชายเลนกับทะเล และระหว่างป่าชายเลนกับป่าบก มีสัตว์หลายชนิดที่อพยพไปมาระหว่างระบบนิเวศดังกล่าวได้



























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น