สัตว์ที่พบบริเวณป่าชายเลน
บริเวณป่าชายเลนถือว่าเป็นระบบนิเวศที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นที่เพาะพันธุ์และเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำ รวมไปถึงเป็นแหล่งหากินของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด ทำให้บริเวณป่าชายเลนมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูง ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์หน้าดิน รวมไปถึงสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งสัตว์ที่พบอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน จะคืบคลานหรือเกาะหรือขุดรูอยู่ตามพื้นดิน รวมทั้งพวกที่อยู่ในน้ำจะต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากต้องประสบกับสภาวะต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำ
หรือต้องอยู่ในสภาพไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยทั่วไป เช่น สภาวะที่ทำให้มีการสูญเสียน้ำออกจากลำตัวและสภาพอุณหภูมิสูง สภาพที่มีปริมาณออกซิเจนค่อนข้างต่ำของดินเลน และการเปลี่ยนแปลงความเค็ม ตัวอย่างสัตว์ที่พบในป่าชายเลน ได้แก่
ชื่อไทย : หนอนริบบิ้น (Ribbon worm)
ลำตัวแบนเรียวยาวคล้ายคลึงกับหนอนตัวแบน ร่างกายไม่มีปล้อง มีท่อทางเดินอาหารครบจากปากสู่ทวารหนัก และมีงวงที่ยืดหดได้ทางด้านหน้า ลำตัวสีแดงเพราะมีระบบหมุนเวียนโลหิตฝังตัวอาศัยอยู่ในดินโคลนบริเวณป่าชายเลน
ชื่อไทย : แม่เพรียง (Polychaete Worm)
หนอนปล้องที่อาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนมีระยางค์เป็นคู่ช่วยในการว่ายน้ำ ในช่วงฤดูหนาวที่น้ำทะเลขึ้นสูง แม่เพรียงจะว่ายน้ำออกมาที่ผิวทะเลเพื่อผสมพันธุ์โดยตัวผู้และตัวเมียปล่อยเซลล์สืบพันธุ์จำนวนมากออกไปผสมกันในน้ำทะเลได้ตัวอ่อนที่ดำรงชีวิตเป็นแพลงค์ตอนชั่วคราว ส่วนพ่อแม่พันธุ์มักถูกปลาทะเลจับกินเป็นอาหาร
ชื่อไทย : ปูเปี้ยวก้ามขาว
บริเวณชายหาดโคลนปนทราย ริมป่าชายเลน จะเป็นที่อยู่อาศัยของปูเปี้ยวหรือปูก้ามดาบ ซึ่งมีก้ามข้างหนึ่งขนาดใหญ่ใช้โบกพัดแสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขตของตน ตามปกติปูก้ามดาบจะขุดรู และออกมาจากรูหาอาหารช่วงเวลาน้ำลง และฝังตัวอยู่ในรูเมื่อน้ำทะเลขึ้น
ชื่อไทย :ปูเปี้ยวปากคีบ
ปูก้ามดาบอีกชนิดหนึ่ง มีกระดองสีดำก้ามสีน้ำตาลอมม่วง ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่เป็นดินโคลน แยกจากกลุ่มของปูเปี้ยวก้ามขาว ทั้งนี้เป็นการลดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างปูประเภทเดียวกัน
ชื่อไทย : ปูเปี้ยวขาแดง
ปูก้ามดาบชนิดที่มีกระดองสีฟ้าแต้มด้วยจุดดำ ตรงมุมกระดองมีสีเหลือง ขาเดินมีสีส้มแดง ตัวเมียมีก้ามขนาดเล็กทั้งสองข้างเช่นเดียวกับปูก้ามดาบทั่วไป พบอาศัยอยู่ตามหาดโคลนใกล้แนวป่าชายเลนทางฝั่งทะเลอันดามัน
ชื่อไทย : ปูแสมก้ามแดง
ปูแสมขนาดกลาง กระดองกว้างประมาณ2.5 เซนติเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยม ก้ามสีแดงขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนหรือริมคันนาน้ำเค็ม กินเศษอินทรีย์ต่างๆ เป็นอาหาร พบชุกชุมและมีการแพร่กระจายทั่วไป
ชื่อไทย : ปูแสม หรือปูเค็ม
กระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปกคลุมด้วยขนสั้นก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงสีบานเย็นอมม่วงขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนที่เป็นดินโคลน กินเศษอินทรีย์และใบไม้ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร ปูชนิดนี้เองที่ถูกจับนำมาดองเป็นปูเค็ม
ชื่อไทย : ปูแสมก้ามยาว
ปูแสมชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายคลึงกับปูก้ามดาบ โดยมีก้ามขนาดยาวใหญ่ ส่วนขาเดินเรียวเล็ก ขุดรูอาศัยอยู่ตามหาดโคลนริมแนวป่าชายเลนปะปนกับปูก้ามดาบกระดองมีความกว้างประมาณ 1.5เซนติเมตร ก้ามมีสีส้มแดง
ชื่อไทย : ปูทะเล
ปูขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่อาจมีน้ำหนักมากกว่าครึ่งกิโลกรัม กระดองพื้นผิวเรียบเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะอุ้มตัวเมียไว้รอจนกว่าตัวเมียจะลอกคราบแล้วจึงผสมพันธุ์ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะถูกปล่อยออกมาอุ้มไว้ที่หน้าท้องจนกระทั่งฟักออกไปเป็นตัวอ่อน ดำรงชีวิตเป็นแพลงค์ตอนชั่วคราว
ชื่อไทย : กุ้งเคย (Acetes)
ครัสเตเชียนขนาดเล็กรูปร่างคล้ายกุ้งแต่ดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงคลานตามพื้นอย่างกุ้งทั่วไป ขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เปลือกบางและนิ่ม อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามชายทะเลและลำคลองบริเวณป่าชายเลน
ชื่อไทย : กุ้งกุลาดำ
กุ้งทะเลขนาดค่อนข้างใหญ่ ความยาวลำตัวประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำเงินอมม่วงเข้มและมีลายขวางเป็นปล้อง อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลริมชายฝั่งและป่าชายเลนปัจจุบันมีการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย
ชื่อไทย :กุ้งแชบ๊วย
กุ้งทะเลขนาดค่อนข้างใหญ่ใกล้เคียงกับกุ้งกุลาดำ เปลือกหุ้มตัวมีสีเหลืองนวลบนกรีมีฟัน 5-8 ซี่ ด้านล่างมี 2-5 ซี่อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนริมชายฝั่งและลำคลองในป่าชายเลน
ชื่อไทย : แม่หอบ
แม่หอบเป็นครัสเตเชียนลักษณะคล้ายคลึงกับกุ้ง แต่ส่วนท้องมีขนาดใหญ่ และสามารถอาศัยอยู่บนบกได้นาน ลำตัวเรียวยาวขาเดินคู่แรกเป็นก้ามหนีบ ส่วนท้องแบ่งออกเป็นปล้อง แม่หอบขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลน โดยขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูง และอาศัยอยู่ด้านใต้กองดินนั้น พบเฉพาะป่าชายเลนทางภาคใต้
ชื่อไทย : กั้งตั๊กแตน
กั้งตั๊กแตนขนาดกลาง ความยาวประมาณ15 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างแบน ด้านบนมีสันเรียงตัวตามความยาว 8 เส้นส่วนท้องปล้องที่ 2 และ 5 มีแถบคาดสีดำตามขวาง ตัวเมียที่ผ่านการผสมแล้วจะปล่อยไข่ออกมาอุ้งไว้จนกว่าจะฟักเป็นตัวอ่อน
ชื่อไทย : แมงดาถ้วย
สัตว์มีขาเป็นข้อปล้องที่อาศัยอยู่ในทะเลส่วนหัวเชื่อมรวมกับอกเป็นรูปเกือกม้าส่วนท้องมีหนามบริเวณขอบข้างละ 6 คู่หางค่อนข้างกลมและไม่มีหนาม อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลน วางไข่ตามริมตลิ่งบริเวณป่าชายเลน แมงดาชนิดนี้บางตัวอาจะเป็นพิษจึงควรระมัดระวังในการรับประทานไข่แมงดาหางกลมโดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม
ชื่อไทย : หอยขี้นก (Cerithidea)
หอยฝาเดียว (gastropod) ขนาดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เปลือกเวียนเป็นเกลียวรูปเจดีย์พบเกาะอยู่ตามรากต้นโกงกาง หรือคลานอยู่ตามพื้นป่า เมื่อหอยเหล่านี้ตายลง เปลือกจะเป็นที่อยู่อาศัยของลูกปูเสฉวนขนาดเล็ก
ชื่อไทย : ปลาตีน (Boleophthalmus)
ปลาที่ปรับตัวทางโครงสร้างและสรีระหลายอย่างจนสามารถอาศัยอยู่บนบกได้เป็นเวลานาน ปลาตีนมีอยู่หลายชนิดและขนาดแตกต่างกัน หัวขนาดใหญ่ ตาโตลำตัวเรียวเล็กลงไปทางหาง ครีบอกแผ่ขยายใหญ่ใช้คลานขณะอยู่บนบกได้ดีปลาตีนกินกุ้ง ปู และหนอนตามหาดโคลนเป็นอาหาร
ชื่อไทย :ปลานวลจันทร์ทะเล
ปลาทะเลที่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยได้ ลำตัวแบนด้านข้างเรียวยาว เกล็ดสีเงินเมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง 1 เมตร ครีบหางค่อนข้างใหญ่ มักอยู่รวมกันเป็นฝูงหากินใกล้ชายฝั่งที่เป็นดินโคลน มักพบอยู่ตามลำคลองในป่าชายเลนทั่วไป
ชื่อไทย :ปลากะพงขาว
ปลากะพงขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง 1 เมตร เกล็ดลำตัวเป็นสีเงิน ส่วนหัวเล็กงอนลงเล็กน้อยอาศัยอยู่ตามลำคลองในป่าชายเลนและริมฝั่งทะเลทั่วไป นับเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย
ชื่อไทย : ปลากะพงตาแมว
ลำตัวค่อนข้างสั้น ตาอยู่ค่อนไปทางหัวขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตรเกล็ดข้างตัวมีสีน้ำตาลอมเทา เส้นข้างลำตัวปรากฏเด่นชัด หากินอยู่ใกล้พื้นทะเลริมชายฝั่งและลำคลองในป่าชายเลน
ชื่อไทย :ปลาข้างตะเภา
ปลาขนาดยาวประมาณ 15 เซนติเมตรลำตัวสีเงินคาดด้วยแถบสีดำตามความยาวปลาชนิดนี้เป็นปลาที่สามารถอาศัยอยู่ทั้งในน้ำค่อนข้างจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม กินอาหารไม่เลือก มักอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทั่วไปบริเวณป่าชายเลนและปากแม่น้ำ
ชื่อไทย :ปลาตะกรับจุด หรือ ปลากะทะ
ลำตัวแบนบางทางด้านข้างคล้ายปลาผีเสื้อปากเล็ก ลำตัวและครีบมีจุดสีน้ำตาลกระจายทั่วไป มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยเฉพาะตัวขนาดเล็กมักว่ายอยู่ตามผิวน้ำ บริเวณลำคลองของป่าชายเลน
ชื่อไทย :ปลากะรังปากแม่น้ำ
ปลากะรังหรือปลาเก๋าขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง 80 เซนติเมตรปากกว้าง สามารถฮุบกินเหยื่อเข้าไปทั้งตัวซึ่งได้แก่ปลาขนาดเล็กกว่า พบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำหรือตามลำคลองของป่าชายเลน จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นเดียวกับปลากะพงขาว
ชื่อไทย : ปลาอมไข่
ลำตัวสั้นมากและแบนทางด้านข้าง ครีบหลังมี 2 อันเด่นชัด ปากค่อนข้างกว้างและเฉียงลงขนาดความยาวตัวประมาณ 5 เซนติเมตรครีบท้องอยู่ตรงตำแหน่งอก ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงริมชายฝั่งทะเลและลำคลองในป่าชายเลน
ชื่อไทย :ปลาเฉี่ยวหรือผีเสื้อเงิน
ลำตัวป้อมสั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ครีบหลังและครีบทวารยื่นยาว ผิวลำตัวสีเงินเหลือบเป็นประกายครีบหลังสีเหลืองมีลายคาดตามขวางผ่านตาและบริเวณขอบแผ่นปิดเหงือก มักพบบริเวณแหล่งน้ำกร่อย ปากแม่น้ำ และป่าชายเลน
ชื่อไทย :ปลาสลิดทะเลจุดขาว
ลำตัวแบนทางด้านข้าง ขนาดความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตรพื้นลำตัวสีเหลืองอมน้ำตาล แต้มด้วยจุดขาวทั่วตัว มักว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูงเล็กๆหากินใกล้พื้นทะเลบริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำซึ่งเป็นป่าชายเลน
ชื่อไทย : ปลาเห็ดโคน
ลำตัวค่อนข้างกลมเรียวยาว ขนาดประมาณ15 เซนติเมตร ปากยาวแหลม เกล็ดหุ้มลำตัวสีเงินเป็นประกาย อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงหาอาหารจำพวกหนอน หอย กุ้ง ตามพื้นทะเลที่เป็นโคลนริมชายฝั่งและปากแม่น้ำ
ชื่อไทย :ปลาดอกหมาก
ปลาขนาดยาวประมาณ 12 เซนติเมตรลำตัวป้อมสั้น เกล็ดหุ้มตัวสีเงินเป็นประกาย ก้านครีบหลังอันแรกเป็นสายยาว มักอาศัยอยู่เป็นฝูงขนาดย่อมบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองในป่าชายเลน
ชื่อไทย :ปลาดุกทะเล
ปลาดุกขนาดกลาง มีลำตัวเรียวยาว ด้านหน้าปากมีหนวด 4 คู่ ลำตัวมีคาดสีดำสลับขาวตลอดความยาว ด้านท้องสีขาว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ หากินอยู่ตามพื้นที่เป็นดินโคลนริมชายฝั่งและปากแม่น้ำ
ชื่อไทย : นกยาง
นกยางเป็นนกที่มีขายาว ปากยาวขนลำตัวส่วนใหญ่สีขาว มีอยู่หลายชนิด ที่พบเห็นได้ทั่วไปได้แก่นกยางเปีย นกยางทะเล นกยางโทนนกเหล่านี้มักอาศัยอยู่ตามป่าชายเลนหรือบึง ใกล้แหล่งน้ำ กินกุ้ง ปู หอยปลาเป็นอาหาร ทำรังอยู่บนต้นไม้ด้วยกิ่งไม้แห้ง
ชื่อไทย :นกแขวก
นกในวงศ์นกยางที่ขนบริเวณหลังสีเขียวบริเวณปีกสีเทา ตัวที่ยังโตไม่เต็มวัยมีขนสีน้ำตาลแต้มด้วยลายขีดสีขาว นกแขวกอาศัยอยู่ตามป่าชายเลนหรือหนองบึง มักออกหากินในเวลากลางคืน ทำรังด้วยกิ่งไม้แห้งสานกันอย่างหยาบๆ
ชื่อไทย : ลิงแสม
ลิงแสมมีชื่อเรียกตามพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนคือ ต้นแสม เพราะตามธรรมชาติของลิงชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ตามป่าแสม-ป่าโกงกาง ขนลำตัวมีสีน้ำตาล หางยาว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เวลาน้ำทะเลลดลง ลิงเหล่านี้จะลงมาจับปูตามพื้นป่าเป็นอาหารปัจจุบันเผ่าพันธุ์ของลิงแสมได้เข้ามาครอบครองพื้นที่ตามแหล่งท่องเที่ยวเพราะได้รับอาหารโดยไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้ตามธรรมชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น